แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์

        

องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์

  ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์

   องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์

  ความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์

  การประเมินความฉลาดทางอารมณ์และประสิทธิภาพของอารมณ์

   การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

หน้าหลักสืบค้น

 

               มีผู้ศึกษาและแบ่งองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ หลายคนด้วยกัน ดังนี้
            Salovey and Mayer (อ้างถึงใน  กระทรวงสาธารณสุข,  กรมสุขภาพจิต, 2544, หน้า 21)  กล่าวถึง องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จในชีวิต  ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงความฉลาดทางอารมณ์  โดยแบ่งเป็น  5  องค์ประกอบ คือ

  1. การรู้จักอารมณ์ตนเอง  หรือการตระหนักรู้ในตนเอง เข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้นและสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ต่าง ๆ
  2. การจัดการกับอารมณ์  เป็นความสามารถใจการควบคุมความวิตกกังวล  ความโกรธ ความเศร้าหมองและเข้าใจถึงผลของความล้มเหลวที่ทำให้ขาดทักษะ ทางอารมณ์  บุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูงจะสามารถเอาชนะปัญหาต่าง ๆ และแก้ไขต้นเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่ปกติได้
  3. การมีแรงจูงใจในตนเอง  เป็นความสามารถในการใช้อารมณ์ให้เป็นแรงจูงใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายและเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บุคคลมีความสนใจสิ่งต่าง ๆ มีแรงจูงใจและความคิดสร้างสรรค์
  4. การรู้จักและเข้าใจอารมณ์ของบุคคลอื่นความสามารถด้านนี้เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทำให้บุคคลมีความรู้สึกไวและละเอียดอ่อนในการเข้าใจว่าผู้อื่นต้องการสิ่งใด
  5. ความสามารถในการจัดการด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  เป็นความสามารถและทักษะในการจัดการกับอารมณ์ของผู้อื่นในทางที่เหมาะสมทำให้ตนเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น

             กระทรวงสาธารณสุข,  กรมสุขภาพจิต (2546,  หน้า 2-3)  ได้พัฒนาแนวคิดเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ที่ประกอบด้วยปัจจัย  3  ประการคือ

  1. ดี  หมายถึง  ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเองรู้จักเห็นใจผู้อื่นและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม  ประกอบด้วยความสามารถต่อไปนี้
    1. ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง
      1. รู้อารมณ์และความต้องการของตนเอง
      2. ควบคุมตนเองและอารมณ์ได้
      3. แสดงออกอย่างเหมาะสม
    2. ความสามารถในการเห็นใจผู้อื่น
      1. ใส่ใจผู้อื่น
      2. เข้าใจและยอมรับผู้อื่น
      3. แสดงความเห็นใจอย่างเหมาะสม
    3. ความสามารถในการรับผิดชอบ
      1. รู้จักการให้  รู้จักการรับ
      2. รู้จักรับผิด  รู้จักให้อภัย
      3. เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
  2. เก่ง  หมายถึง  ความสามารถในการรู้จักตนเอง  มีแรงจูงใจ  สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาและแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งมีสัมพันธภาพดี                  กับผู้อื่น
    1. ความสามารถในการรู้จักและสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง
      1. รู้ศักยภาพตนเอง
      2. สร้างขวัญและกำลังใจให้ตนเองได้
      3. มีความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย
    2. ความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหา
      1. รับรู้และเข้าใจปัญหา
      2. มีขั้นตอนในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
      3. มีความยืดหยุ่น
    3. ความสามารถในการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น
      1. รู้จักการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
      2. กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม
      3. แสดงความเห็นที่ขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์
  3. สุข  หมายถึง  ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข มีความภาคภูมิใจในตนเอง  พอใจในชีวิตและมีความสุขสงบทางใจ
    1. ภูมิใจในตนเอง
      1. เห็นคุณค่าในตนเอง
      2. เชื่อมั่นในตนเอง
    2. พึงพอใจในชีวิต
      1. มองโลกในแง่ดี
      2. มีอารมณ์ขัน
      3. พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
    3. มีความสงบทางใจ
      1. มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสุข
      2. รู้จักผ่อนคลาย
      3. มีความสงบทางจิตใจ

     นงพงา  ลิ้มสุวรรณ  (2547,  หน้า  198)  กล่าวว่า  ทักษะทางอารมณ์  หรืออีคิวของคนอาจจัดได้เป็นเรื่องใหญ่ ๆ 5  เรื่อง คือ

  1. สามารถรู้อารมณ์ตนเอง
  2. สามารถบริหารอารมณ์ตนเอง
  3. สามารถทำให้ตัวเองมีพลังใจ
  4. สามารถเข้าถึงจิตใจผู้อื่น
  5. สามารถรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
  6. สามารถรู้อารมณ์ตนเอง  คนที่จะมีทักษะชีวิตที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติข้อนี้   คือ เป็นคนที่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร  คือสามารถติดตามความรู้สึกของตัวเองได้ในขณะที่อารมณ์กำลังบังเกิดขึ้นในตัวเรา  เช่น  รู้สึกว่าเรากำลังเริ่มรู้สึกโกรธ  หรือเริ่มรู้สึกไม่พอใจแล้ว ฉะนั้นเราจึงต้องมีการสังเกตตัวเราเองอย่างเสมอ  การรู้ตัวว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไรจะทำให้คน ๆ นั้นควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น  ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ชั่ววูบแล้วทำอะไรที่มีผลร้ายแรงดังที่เราเคยได้ยินเสมอ ๆ ว่า “เขาฆ่าคนตายเพราะเกิดบันดาลโทสะ”  การรู้ว่าตัวเองกำลังมีอารมณ์แบบใดนอกจากจะทำให้เราควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น  ยังทำให้เราสามารถหลุดพ้นจากอารมณ์นั้นได้เร็วขึ้น  เพราะทำให้เรารู้จักไปหาทางระบายอารมณ์นั้นออกไปอย่างเหมาะสมถูกต้อง  คนที่ไม่รู้จักหรือไม่รู้สึกถึงอารมณ์ตัวเองมาก ๆ จะไม่สามารถแสดงออกซึ่งอารมณ์  อาจกลายเป็นเฉยเมย  เป็นคนไม่สนุกไม่รู้สึกขบขันในเรื่องความขบขันคือไม่มีอารมณ์ขัน  ซึ่งจะกลายเป็นคนน่าเบื่อสำหรับผู้อื่นได้  เพราะเป็นคนจืดชืดไร้สีสัน
  7. สามารถบริหารอารมณ์ตนเอง  ทุกคนเมื่อมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้วิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม  เช่น  เกิดอารมณ์โกรธ  อารมณ์ไม่พอใจอะไรใครจะต้องหาทางออก  ไม่ใช่เก็บกดสะสมอารมณ์เหล่านี้ไว้มาก ๆ ซึ่งจะเกิดอาการทนไม่ไหวแล้วถึงจุดหนึ่งจะระเบิดอารมณ์ออกมารุนแรงโดยทำร้ายคนอื่นหรือทำร้ายตัวเอง  เช่น  ฆ่าตัวตาย

 

          วิธีบริหารอารมณ์หรือวิธีจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น คือ

      1. พูดระบาย  ให้คนอื่นพูดด้วยได้รับฟัง  ซึ่งคนที่รับฟังมักจะช่วยปลอบใจได้ไม่มากก็น้อย  หรือเขาอาจแสดงความเห็นอกเห็นใจ
      2. ทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง  โดยคิดไตร่ตรองว่าคนที่ทำให้เราเกิดอารมณ์นี่เขาเป็นอย่างไร  มีเหตุผลอะไร  มีเจตนาร้ายหรือไม่  หรือเขามีปัญหาอะไร  เป็นต้น  ถ้าเราสามารถเข้าใจเขาได้เราอาจเกิดความเห็นใจเขาหรือให้อภัยเขาซึ่งจะช่วยลดอารมณ์ของเราลงได้
      3. หาวิธีผ่อนคลายให้ตัวเอง  เช่น  อาจไปเล่นกีฬา  ร้องเพลง  ฟังเพลง  เล่นดนตรี  เป็นการคลายเครียด
      4. วิธีอื่น ๆ แต่ละคนอาจมีวิธีทำแตกต่างกันไป เช่น บางคนอาจไปเดินเล่น ไปซื้อของ ไปทำงานอดิเรกที่ตัวเองชอบ เป็นต้น

          ในชีวิตประจำวันทุกคนต้องหัดจัดการกับอารมณ์ของตนเองอยู่แล้ว  เพราะทุกวันเราจะเกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้น เช่น อารมณ์เบื่อ เศร้า เครียด หงุดหงิด รำคาญ เซ็ง โดยทั่วไปควรจะหากิจกรรมทำ  เช่น  ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยว ไปคุยกับเพื่อน และอื่น ๆ อีกมากมาย

  1. สามารถทำให้ตัวเองมีพลังใจ คือ เป็นคนที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ           หรือแรงใจให้อย่างทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต ไม่เป็นคนย่อท้อหมดเรี่ยวแรงง่าย หรือยอมแพ้โดยง่ายดาย
  2. สามารถเข้าถึงจิตใจผู้อื่น ความสามารถนี้เป็นคุณสมบัติของผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับจิตใจผู้อื่นจะขาดไม่ได้เลย  เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์               แต่ที่จริงแล้วทุก ๆ คนควรจะมีคุณสมบัตินี้อย่างมาก  จะทำให้เป็นคนที่น่าคบหาสมาคม เป็นคนที่คนอื่นนิยมชมชอบ เป็นคนที่เพศตรงข้ามชอบทำให้เข้ากับผู้อื่นได้ดี  เป็นคนมีเสน่ห์และสามารถเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี  ความสามารถนี้  หมายถึงว่า  เราสามารถเข้าใจได้หรือรู้ได้ว่าถ้าเราเป็นเขาเราจะรู้สึกอย่างไร  ซึ่งหมายถึง  ความเห็นใจผู้อื่นหรือความสามารถที่เอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเอง  การที่คนเราจะสามารถเข้าใจจิตใจผู้อื่นได้เขาจะต้องเข้าใจตัวเขาเองก่อน  เขาต้องรู้จักตัวเองและมีความรู้สึกของตัวเองเสียก่อน          ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรจึงจะสามารถอ่านความรู้สึกของผู้อื่นได้

         การที่จะอ่านความรู้สึกผู้อื่นได้ดี  จะต้องเป็นคนที่อ่านภาษาท่าทางได้ดี  เพราะคนส่วนใหญ่แล้วจะแสดงอารมณ์เป็นภาษาท่าทางมากกว่าการแสดงอารมณ์เป็นคำพูด  เช่น  เวลาโกรธ  มักจะแสดงท่าทางโกรธแบบต่าง ๆ เช่น  หน้างอ  หน้าบึ้งตึง  มีกริยากระแทกกระทั้น  เดินกระแทกเท้าโครม ๆ ปิดประตูปึงปัง  เป็นต้น  แต่มีน้อยคนที่เวลาโกรธจะใช้คำพูดออกมาตรง ๆ ว่า “ฉันกำลังรู้สึกโกรธคุณมากเลย  คุณทำอย่างนี้ได้อย่างไร”

  1. สามารถรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญอีกเช่นกัน  เพราะคงไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีแต่ไม่สามารถทำให้ความสัมพันธ์นั้นยั่งยืนยาวนานได้  คือจะต้องรู้จักหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ที่มีอยู่ให้มีอยู่ต่อไป  ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถในการบริหารจัดการกับความรู้สึกของผู้อื่น  โดย   ทำให้คนอื่นที่อยู่ใกล้เราแล้วเขาเกิดความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับตัวเขาเองและเขาเกิดความรู้สึกที่ดีกับเราด้วย  เช่น  เราสามารถทำให้เขารู้สึกว่าเรา
      1. เห็นเขาสำคัญ
      2. ให้เกียรติเขา
      3. ยกย่องเขา
      4. เข้าใจเขา
      5. เห็นเขามีคุณค่า
      6. ช่วยเหลือเขา
      7. เป็นมิตรกับเขา
      8. หวังดีต่อเขา
      9. รักเขา

          ความสามารถในการรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นยังขึ้นกับว่าเรานั้นสามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของเราเองได้ดีแค่ไหน  ไม่เช่นนั้นแล้วเขาจะรู้สึกไม่เข้าใจเรา 
ไม่รู้จักเรา เข้าไม่ถึงเรา ทำให้เขาไม่ค่อยแน่ใจว่าเรานั้นเป็นคนอย่างไร วางใจได้แค่ไหน  จริงใจเพียงใด  เป็นต้น
จากองค์ประกอบทางอารมณ์ที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่า  ถึงแม้ว่าจะแบ่งเป็น 3 องค์ประกอบ  หรือ  5  องค์ประกอบ แต่สรุปแล้วเหมือนกันคือ รู้ว่าอารมณ์ของตนเองเป็นอย่างไร  เมื่อรู้แล้วก็สามารถจัดการหรือควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ และให้โอกาสตัวเองโดยการสร้างพลังใจให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้  นอกจากนี้ยังต้องรู้จักเข้าถึงจิตใจผู้อื่นและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อผู้อื่นด้วย  ถ้าทำได้ตามนี้  บุคคลผู้นั้นก็จัดว่าเป็นผู้มีความฉลาดทางอารมณ์

       

 

 

อ้างอิงจาก

กระทรวงสาธารณสุข, กรมสุขภาพจิต. (2544). รายงานวิจัยการพัฒนาแบบ
            ประเมินความฉลาดทางอารมณ์สำหรับประชาชนไทย  อายุ 12-60 ปี
นนท์บุรี : สำนักพิมพ์วงศ์กมลโปรดักชั่น.

กระทรวงสาธารณสุข, กรมสุขภาพจิต. (2546).  สุขภาพจิตไทย พ.ศ. 2545-2546.
กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.

นงพงา  ลิ้มสุวรรณ. (2547).  เลี้ยงลูกถูกวิธี  ชีวีเป็นสุข (พิมพ์ครั้งที่ 9).
กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์แปลนพริ้นติ้งเพลส.